วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


เรื่องพระกรรมฐาน ( ตอนที่ ๔ )

อานาปานสติ

เป็นวิธีที่จะฝึกจิตให้มีพลังที่ง่ายและเหมาะกับทุกจริตที่สุด
คนทั่วไป จะหายใจนาทีละประมาณ ๒๕ - ๒๐ ครั้งต่อไปนี้

คนที่อยู่ในสภาวะเครียดและสับสน จะหายใจติดขัดสั้น ๆ
นาทีละ ๔๐ -๕๐ ครั้ง
ผู้ที่อยู่ในสมาธิขั้นต้น จะหายใจลดลงเหลือ ๑๒ - ๒๕ ครั้ง สามารถใช้สมาธิ
รักษาโรคง่ายๆ ได้ ใช้อธิษฐานง่ายๆ ได้ และมีการเต้นหัวใจและเมตตาโบลิซึ่มลดลง
ผู้ที่อยู่ในสมาธิขั้นกลาง ลมหายใจละเอียดช้าลงเหลือ ๖ - ๑๒ ครั้ง
ใช้สมาธิรักษาผู้อื่นได้ มีความทิพย์ตามสมควร

ผู้ที่เข้าสมาธิชั้นสูง จะหายใจช้าลงสั้นลงเหลือแค่เมล็ดถั่วต่อครั้ง
และมีการหายใจผ่านผิวหนัง ซึ่งจะรู้สึกได้ถึงการติดขัดเล็กน้อย
ของอากาศที่ผิวหนัง สามารถใช้รักษาโรคได้มากขึ้น
จิตมั่นคง
ตั้งมั่นในการอธิษฐาน ใช้อภิญญาได้บ้าง                                                                                             

การฝึกอานาปานสติเบื้องต้น














๑. การจับลมหายใจ ๑ ฐาน :
ปลายจมูก นั่งสบายๆ ผู้ที่เริ่มฝึกใหม่ให้หลับตา
ปล่อยลมหายใจตามสบาย เราเป็นผู้ติดตามลมหายใจ เมื่อลมหายใจเข้าภาวนา

“พุท ” หายใจออกภาวนา “ โธ ” วางอารมณ์ลมหายใจเบาๆ สบายๆ
จับความรู้สึกที่ลมหายใจกระทบ ปลายจมูก นั่งจับลมหายใจจนรู้สึกโล่ง
เบาสบาย ตามดูลม และคำภาวนาอย่างเดียว อย่างไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น
ถ้าใจอยากหยุดภาวนาก็ปล่อยหยุด จับลมอย่างเดียว เมื่อทำได้สำเร็จ
แล้วอธิษฐานกำกับว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้และเข้าถึงอานาปานสติลมหนึ่งฐาน
ทุกครั้งที่ต้องการทุกชาติไป จนถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเทอญ ”


๒. จับลมสามฐาน : จมูก อก ท้อง ลักษณะการฝึกเหมือนกันแต่มีเพิ่มเติม
ในการจับลมหายใจ สามจุด คือ จมูก อก ท้อง ทั้งการหายใจเข้า หายใจออก
ทำจนใจสบายสมาธิ จะมีสติตามลมได้ละเอียดขึ้น แล้วจึงอธิษฐานกำกับว่า
“ ขอให้ข้าพเจ้าได้และเข้าถึง อานาปานสติ ลมสามฐานนี้ได้ทุกครั้งที่ต้องการ
ทุกชาติไปจนถึงซึ่งพระนิพพาน ด้วยเทอญ.


๓. จับลมหายใจตลอดสาย : จับลมให้เหมือนกับเส้นไหมพลิ้ว ผ่านจมูก
ผ่านออก ผ่านท้อง พลิ้วเข้าไป แล้วจับลมจากท้อง ผ่านอก ผ่านจมูกออกไป
แล้วย้อนกลับเข้า ไปใหม่ต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุด ทำจนรู้สึกใจสบายเบาโล่ง
แล้วจึงอธิษฐานกำกับว่า “ ขอให้ข้าพเจ้าได้ และเข้าถึงอานาปานสติลมปราณ
ตลอดสายนี้ ได้ทุกครั้งที่ต้องการในทุก ๆ ชาติ ตราบเข้าถึงซื่ง นิพพานด้วยเทอญ

๔. เมื่อได้ขั้นที่สาม : แล้วท่านสามารถนำวิชชาไปประยุกต์ใช้ได้ อาทิเช่น
ใช้ดึงลมปราณจากธรรมชาติมาเสริมพลังลมปราณของตนเอง โดยการอธิษฐานขอ
กับพระธรณีและธรรมชาติและใช้จิตใจชักนำลมปราณจากธรรมชาติเข้ามาฟอกธาตุ
เสริมปราณของเราในช่วงหายใจเข้า และชะล้างธาตุที่เป็นโทษและโรคภัยไข้เจ็บออก
ไปในจังหวะหายใจออกเป็นต้น

๕. ท่านที่ได้มโนยิทธิ : ให้ฝึกขั้นก้าวหน้า โดยการอาราธนาบารมีพระท่าน ให้เมตตา
ดึงปราณจากพระนิพพานลงมาผสานเป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ ให้มีลักษณะเป็น
ละอองเพชรใสระยิบระยับแพรวพราว เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว ให้ฟอกธาตุขันธ์
ของเราให้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส จิตจะสัมผัสได้เลยว่า อาทิสมานกายใสขึ้น
สว่างขึ้น ( เนี่ยเป็นสาเหตุที่ทำให้อัฐิของพระอรหันต์ท่านใสเป็นแก้ว อารมณ์
และสภาวะแห่งพระนิพพานที่ท่านสัมผัสช่วยล้างธาตุขันธ์กายหยาบให้มีความ
บริสุทธิ์นั่นเอง )





การฝึกจับลมหายใจอานาปานสตินี้ ขอให้ทำในอริยาบถทั้งสี่
คือ ยืน เดิน นั่ง นอน หรือถ้าพิสดารกว่านั้นก็คือ ฝึกจับลมหายใจตอน

ออกกำลังกาย เนื่องจากต้องฝึกให้ได้ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ ทั้งหลับตา
และลืมตา ไม่ต้องตั้งท่าหลับตานั่งสมาธิ เพราะในยามคับขันจะเข้าสมาธิไม่ทัน
นอกจากนั้นอานิสงค์อีกอย่างคือ สมาธิจะมั่งคงไม่คลายตัว หรือในขณะที่ออก
กำลังกาย จะมีพลังทำให้ไม่เหนื่อยง่าย แล้วอย่าลืมอธิษฐานกำกับเอาไว้
เพื่อเป็นการปักหมุดจารึกไว้ในจิตติดตัวไปทุกชาติ ที่ต้องอธิษฐานกำกับไว้ทุกครั้ง
ก็เพราะมีพุทธภูมิบางท่านบำเพ็ญบารมีมาก็เยอะ แต่วิชชาที่ได้มาในอดีตชาติ
ไม่สามารถกลับมารวมตัวในชาตินี้ เพราะว่าทำตกหล่นไว้ ไม่ได้อธิษฐานกำกับ
เพื่อนำกลับมาใช้ต่อไป ส่วนการใช้จิต ดึงลมปราณและธาตุทิพย์จากพระนิพพานนั้น
สามารถอธิษฐานจิตดึงมาใช้ได้พร้อมๆกัน โดยขอให้ชำระพระธาตุธรรม รักษาโรค
และเพิ่มพลังลมปราณ ในการเนื้อไปพร้อมๆ กัน

อาการของผู้ที่ฝึกจับลมแต่ละฐานได้แล้วจะมีดังนี้

๑.
ลมหนึ่งฐาน ลมหายใจจะนิ่งเบาสบาย ลมหายใจทิ้งช่วงนาน
ขึ้น
อารมณ์หาย ใจเบาสบาย

๒.
ลมสามฐาน จิตรัดตัวขึ้น สติตามลมได้ กระชับขึ้นแต่มีอาการ
สะดุดของจิต ในจุดกระทบของลมแต่ละจุด แต่จิตจะตัดความสนใจ
ภายนอกได้มากกว่าลมหนึ่งฐาน

๓.
ลมตลอดสาย จิตจะเพลิดเพลินกับลมหายใจมากกว่า
ลมหายใจละเอียด ใจสบาย และเนียนเรียบกว่า


๔. ผู้ที่ได้มโนยิทธิ ฝึกจับลมหายใจดึงธาตุทิพย์จากนิพพาน
ถ้ามีอารมณ์แนบพระนิพพานมีวิปัสสนาญาณเข้มแข็ง
มีความฉลาดในธรรมแค่หายใจครั้งเดียว อาทิสมานกาย
ก็แยกขึ้นไปอยู่บนพระนิพพานแล้ว


สรุปโดยย่อ:

จับลมสบาย  หมายถึง จุดที่ลมหายใจของเราละเอียดที่สุด จิตใจเราเบาสบายปลอดโปร่ง
ที่สุด ตามกำลังของแต่ละคน
จับภาพพระ  หมายถึง ให้เข้าจุดที่ลมหายใจสบาย แล้วจับภาพพระพุทธรูป
ในจิต และนึกภาพให้ภาพพระพุทธรูปใสสว่างขึ้น จนเปล่งแสงเป็นประกายเพชร
( ซึ่งเวลาที่ปฎิบัติจริงๆ จนพระใสสว่างควรใช้เวลาแค่กระพริบตาเท่านั้น ถ้าลืมตาทำได้
จะทรง อารมณ์ได้แนบแน่นมั่งคนกว่าตอนหลับตา )
วิปัสสนาญาณ หมายถึง การพิจารณากาย ขันธ์ ทุกข์ ควรพิจารณาอย่างสม่ำเสมอ
การชำระล้างจิต และการยกระดับจิตให้สู่ระดับที่สูงขึ้น

จากการปฏิบัติสมาธิ เมื่อท่านมีกำลังสูงขึ้น มีปัญญาจากวิปัสสนาญาณ มีบารมีขอ
องค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าคอยคุ้มครองจากการอาราธนาจับภาพพระเป็นพุทธานุสสติ
รู้จักการจับลมหายใจ และรู้จักการใช้พลังจิดึงปราณ รวมถึงธาตุทิพย์จากพระนิพพาน
รู้จักการอธิษฐานกำกับ การอธิษฐานขอบารมี ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการชำระล้างจิตให้
บริสุทธิ์ขึ้น โดยการลด สลายบรรเทากรรม ด้านอกุศลให้ลดลงด้วยกำลังของสมาธิ
และการอธิษฐาน จากนั้นก็จะเป็นการอธิษฐานมหาโมทนา เพื่อเป็นการรวมบุญใหญ่
เข้าสู่จิต และอธิษฐานเรียกบารมีเก่าให้มารวมตัวกัน

         ขั้นตอนสุดท้ายคือ วิชชาเมตตาอัปปมาณฌาณ เป็นการเข้าถึงการแผ่เมตตา
อย่างแท้จริง เมื่อลมหายใจสบาย ให้จับภาพพระมีความใสเป็นเพชร แล้วตั้งจิตระลึก
ถึงศีล ว่าขณะนี้ที่ฝึกนี้เป็นศีลบริสุทธิ์ จากนั้นก็คิดว่า มีตัวท่านอีกคนกำลังเข้าไป
กราบที่ พระพุทธรูป แล้วอธิษฐาน ขอให้พระบารมีของพระพุทธองค์ท่านมาสถิต
เป็นหนึ่ง เดียวกับพระพุทธรูปในจิตของท่าน ด้วยความศรัทธามั่นคงไม่ลังเล
จากนั้นขอขมาพระรัตนตรัยว่า


ข้าพเจ้ากราบขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวรและบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ในสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกินท่านไว้ ละเมิด ต่อท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้วย
ทางกายก็ดี วาจาก็ดี ทางใจก็ดี ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ดี จะระลึกได้ก็ดี
ระลึกไม่ได้ก็ดี ทั้งที่มีเจตนาก็ดี มิได้เจตนาก็ดี ขอให้ท่านเจ้ากรรมนายเวร
ทั้งหลายของข้าพเจ้า และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอได้โปรดอโหสิกรรมงดโทษ
ที่พึงเกิดแก่ตัวของข้าพเจ้า ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้
บำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ และที่จะบำเพ็ญต่อไปในอนาคต
ข้าพเจ้าขออุทิศให้กับท่านทั้งหลาย ขอได้โปรดมาร่วมโมทนาบุญและมีส่วนร่วม
ในบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติในครั้งนี้ เช่น เดียวกับที่ข้าพเจ้าจะพึงได้ทุกประการเทอญ ”

การขอขมากรรมนี้ จะช่วยให้การจองเวรกันลดลง หรืออาจจะสลายตัว
เป็นโมฆะกรรมได้ และส่งผลให้ชีวิตราบรื่น ปลอดโปร่ง สะดวกขึ้น
เป็นการช่วยลดสภาวะกรรมของโลก ที่จะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติลดลง
และในส่วนตัว บางท่านที่มีเจ้ากรรมนายเวร ที่ตั้งใจจะให้ท่านต้องชดใช้
กรรมในภัยพิบัติรอบนี้ อาจจะอโหสิกรรมและให้อภัยต่อท่านได้
ยังประคองจิตให้อยู่ต่อหน้าพระพุทธองค์ด้วยใจที่เบาสบาย
แล้วอธิษฐานต่อไปว่า

นับแต่นี้ข้าพเจ้าจะมีแต่จิตใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส เต็มไปด้วยจิตใจ
ที่ดีงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าขออโหสิกรรม
ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ขอเป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้ใด ข้าพเจ้าขอ
อโหสิกรรมกับท่านทั้งหลายเหล่านั้น ไม่ว่าท่านจะทำการล่วงเกินต่อข้าพเจ้า
ม่ว่าจะเป็นทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ดี
จะระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี ข้าพเจ้าก็ขออโหสิกรรมให้กับท่านทั้งหลาย
เหล่านั้น ขอให้ประสพแต่ตวามสุขในภพภูมิของท่าน ท่านที่ต้องทุกข์
ก็ขอให้พ้นจากทุกข์ พ้นภัยจากวัฏสงสาร ขอให้สัมผัสพระนิพพาน
อันเป็นบรมความสุขด้วยกันเทอญ

ต่อไปเป็นวิชชาสำคัญในการพลิกจิตให้มีสภาวะจิตที่บริสุทธิยิ่งขึ้น
คือ การแผ่เมตตาอัปปมาณฌาน จับลมสบาย จิตจับภาพพระพุทธเจ้าให้ใส
เป็นเพชร จากนั้นนึกกราบขอให้พระท่านมาลอยอยู่เหนือศีรษะของตัวเอง
แล้วกำหนดจิตของเราให้ รู้สึกถึงบุญกุศล คุณงามความดี ความงดงาม
ความชุ่มชื่นใจ ความอิ่มเอิบใจ ความปลื้มปีติความรักบริสุทธิ์ ความตื้นตันใจ
ความรักที่เรามีต่อบิดาและมารดา ให้ความรู้สึกเป็นสุขปีติ อิ่มเอิบใจนี้เติมให้
เต็มหัวใจของเรา นึกถึงภาพดอกไม้ที่ค่อยๆ แย้มกลีบด้วยความงดงาม
เมื่อจิตใจแย้มยิ้มชื่นบานเต็มหัวใจ กายเราก็ยิ้มเบิกบานมีความสุขอย่างที่สุด
กำหนดจิตอธิษฐานว่า

บุญ คือ ความสุขที่ปรากฏ ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศความสุข
และส่วนกุศลนี้ปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั่วอนันตจักรวาล
ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้ประสบแต่ความสุข พ้นจากความทุกข์
พ้นภัยจากวัฏจักรสงสาร สัมผัสพระนิพพานอันเป็นบรมสุขด้วยเทอญ

แล้วค่อยๆ ทำความรู้สึกว่าตัวเราสว่างมีแสงรัศมีสีทอง อันเป็นรัศมีแห่ง
ความรัก ความสุข ความเมตตา ที่เรามีให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีวันจบสิ้น
นึกให้แสงสว่างแห่งความเมตตานี้ แผ่ปกคลุมห้องที่เราอยู่ให้สว่างไสวเรืองรอง
จิตของสรรพสัตว์ดวงใดได้สัมผัสกับรัศมีนี้ก็ให้มีความสุข สงบ ชุ่มเย็นไปด้วย
จิตเรายิ่งเปล่งรัศมีเท่าไหร่ จิตของเราก็ยิ่งมีความสุขชุ่มเย็นยิ่งขึ้น แผ่รัศมีสีทอง
ระยิบระยับค่อยๆ ปกคลุมบ้านเรือนหรืออาคารที่เราอยู่ทั้งหลัง ค่อยๆ ทำใจเย็นๆ

จากนั้นแผ่ปกคลุมไปอำเภอจังหวัดที่อยู่ ประคองใจให้ชุ่มชื่นเย็นใจอิ่มเอิบตลอดเวลา
แล้วค่อยๆ แผ่ให้กว้างขึ้น จนครอบคลุมประเทศไทยจนมองเห็นเป็นขวานสีทอง
แล้วอธิษฐาน ให้ประเทศไทยจนสงบสุขร่มเย็น แผ่รัศมีปกคลุมไปทั่วโลกจนเป็น
สีทองสว่างไสว อธิษฐานขอให้โลกนี้จงสงบสุขร่มเย็น แล้วจึงแผ่รัศมีสีทอง
ออกไปทั่วสุริยจักรวาล ไม่มีที่สิ้นสุดจนออกไปอนันตจักรวาล ไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่มีประมาณ จิตเรายิ่งแผ่รัศมีออกไปกว้างไกลและครอบคลุมมากเท่าไหร่
จิตเรายิ่ง อิ่มเอิบใจมากเท่านั้น ยิ่งให้มากเท่าไหร่ จิตเราก็ยิ่งมีความสุขมาก
ขึ้นเท่านั้น ประคองอารมณ์ใจที่แสนปีติสุขนี้ไว้จนกว่าจะพอใจ เสร็จแล้วให้
ทุกท่านคิดเอาจิตของตัวเรา ไปกราบองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วค่อยๆ
ถอนจิตออกจากสมาธิอย่างช้าๆ โดยการหายใจเข้าลึกๆ ช้า ๆ 3 ครั้ง พร้อม
กับภาวนา “ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ”

หลังจากนั้นข้าพเจ้าปฏิบัติสมาธิ และสวดมนต์ภาวนาอยู่เป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่ง
บังเอิญ ไปมองถูกเปลวไฟในแสงเทียน ขณะที่สวดมนต์ก็บังเกิดเห็นลักษณะ
ดวงกลมขาวเต็มไปหมด พร้อมกับบางครั้งเห็นดวงตามองข้าพเจ้าอยู่ ซึ่งข้าพเจ้า
ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไรเช่นกัน แต่เมื่อจิตสวดมนต์เป็นสมาธิก็เห็นภาพชัดมากขึ้น
บางครั้งก็เห็นเป็นดวงแก้ว เล็กมีลักษณะกลมสีน้ำทะเล อยู่บริเวณที่ข้าพเจ้ามอง
ออกไป ในขณะที่สวดมนต์อยู่ข้าพเจ้าจึงสัณนิฐานว่าคงอาจจะเป็น ดวงจิตของผู้
ที่จะมาร่วมอนุมโทนาบุญในขณะที่ข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมในขณะนั้น
 

ซึ่งส่วนหนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นเช่นนั้น  อาจจะด้วยความบังเอิญที่ได้เห็นเปลวเทียน
มองเห็นแสงไฟทุกท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่องสมาธิในแนวทางการ
ฝึกกสินแบบต่างๆได้






































1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

สำหรับผู้ที่สนใจฝึกอาปานสติและกสินแบบต่างๆ